โรคติดต่อ

เชื้อโรค

ขึ้นชื่อว่า “โรค” แล้วคงไม่มีใครอยากเป็นแน่นอน ยิ่งถ้าเป็น “โรคติดต่อ” แล้ว ยิ่งเพิ่มความน่ากลัวและอันตรายต่อบุคคลรอบข้างเข้าไปอีก ไหนมาดูสิว่า “โรคติดต่อ” คืออะไร และ “โรคติดต่อ” ที่เราควรรู้จักไว้มีอะไรบ้าง

โรคติดต่อ คือ โรคที่สามารถถ่ายทอดติดต่อถึงกันได้ระหว่างบุคคล โดยมีเชื้อจุลินทรีย์ต่าง ๆ เป็นสาเหตุของโรค และถึงแม้ว่าเชื้อโรคจะเป็นตัวก่อเหตุ แต่พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของมนุษย์ ก็เป็นปัจจัยร่วมที่สำคัญที่จะทำให้เกิดโรคติดต่อนั้น ๆ ขึ้น

สำหรับในประเทศไทยเป็นบริเวณร้อนชื้น จึงทำให้เชื้อโรคและแมลงที่เป็นพาหะนำโรคเจริญเติบโตและแพร่พันธุ์ได้ง่าย ประเทศเขตร้อนจึงพบโรคติดต่อชนิดต่าง ๆ มากกว่าประเทศที่มีอากาศหนาว โดยโรคที่พบบ่อยในแถบเขตร้อน จะเรียกรวมว่า “โรคเขตร้อน” (Tropical Diseases) ซึ่งอาจเกิดจากเชื้อได้มากมายหลายชนิด นับตั้งแต่เชื้อไวรัสซึ่งมีขนาดเล็กมากลงไปจนถึงสัตว์เซลล์เดียว และหนอนพยาธิต่าง ๆ


 

โรคติดต่อ ในประเทศไทย


ในปี พ.ศ.2523 ประเทศไทยได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2523 โดยได้มีประกาศรัฐมนตรี เรื่องโรคติดต่ออันตราย โรคติดต่อตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข และโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ เรียงตามลำดับดังนี้

1. โรคติดต่อ อันตราย มีอยู่ 4 โรค ได้แก่ อหิวาตกโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง และกาฬโรค

2. โรคติดต่อ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขลงวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2524 มีอยู่ 44 โรค คือ อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง ไข้กาฬหลังแอ่น คอตีบ ไอกรน โรคบาดทะยัก โปลิโอ ไข้หัด ไข้หัดเยอรมัน โรคคางทูม ไข้อีสุกอีใส ไข้หวัดใหญ่ ไข้สมองอักเสบ ไข้เลือดออก โรคพิษ สุนัขบ้า โรคตับอักเสบ โรคตาแดงจากไวรัส อาหารเป็นพิษ โรคบิดบะซิลลารี (bacillary dysentery) โรคบิดอะมีบา (amoebic dysentery) ไข้รากสาดน้อย ไข้รากสาดเทียม ไข้รากสาดใหญ่ สครับไทฟัส (scrub typhus) มูรีนไทฟัส (murine typhus) วัณโรค โรคเรื้อน ไข้จับสั่น แอนแทร็กซ์ (antrax) โรคทริคิโนซิส (trichinosis) โรคคุดทะราด โรคเล็พโทสไปโรซิส (โรคฉี่หนู) ซิฟิลิส หนองใน หนองในเทียม กามโรคของต่อมและท่อน้ำเหลือง แผลริมอ่อน แผลกามโรคเรื้อรังที่ขาหนีบ โรคไข้กลับซ้ำ โรคอุจจาระร่วง โรคแผลเรื้อรัง และโรคเท้าช้าง

3. โรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ มีอยู่ 15 โรค ได้แก่ อหิวาตกโรค กาฬโรค ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง คอตีบ บาดทะยักในเด็กเกิดใหม่ โปลิโอ ไข้สมองอักเสบ ไข้พิษสุนัขบ้า ไข้รากสาดใหญ่ แอนแทร็กซ์ โรคทริคิโนซิส ไข้กาฬหลังแอ่น โรคคุดทะราดระยะติดต่อ โรคเอดส์ (AIDS) หรือกลุ่มอาการภูมิคุ้มกันโรคเสื่อม

ปัจจุบัน โรคติดต่อ ที่เป็นอันตรายหลายชนิดถูกควบคุมและกำจัดไปหมดแล้ว เช่น กาฬโรค ไข้ทรพิษ ส่วน โรคติดต่อ บางชนิดยังคงพบอยู่บ้างแต่ลดความรุนแรงของโรคลง เช่น อหิวาตกโรค แต่ก็ยังคงมี โรคติดต่อ หลายชนิดปรากฎอยู่ และยังพบ โรคติดต่อ ชนิดใหม่เกิดขึ้นอยู่

โรคติดต่อ ที่ควรรู้จัก

โรคติดต่อ ที่ยังพบในปัจจุบันมีอยู่หลายโรค แต่ โรคติดต่อ อะไรบ้างที่เราพบได้บ่อย และควรรู้จักไว้ มาดูกัน


อหิวาตกโรค (Cholera)

อหิวาตกโรค แบ่งเป็น 2 ประเภทคือ อหิวาตกโรคชนิดแท้ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย วิบริโอ คอเลอเร ส่วน อหิวาตกโรค ชนิดเทียม เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เอลเทอร์ วิบริโอ ซึ่งอยู่ในอุจจาระหรืออาเจียนของผู้ป่วย และแพร่กระจายอยู่ในอาหารและน้ำดื่มได้ โดยมีแมลงวันเป็นตัวพาหะ

ผู้ป่วย อหิวาตกโรค อาจไม่มีอาการ มีอาการอย่างอ่อน เช่น ปวดท้อง ท้องเสียท้องร่วงวันละหลายครั้ง แต่ 1-2 วันก็หายเป็นปกติ หรือผู้ป่วยบางคนอาจมีอาการรุนแรงมาก คือ ถ่ายอุจจาระเหลวคล้ายน้ำซาวข้าว มีกลิ่นคาว อาเจียน ซึ่งการถ่ายบ่อยทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ จนเกิดอาการอ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเบาลง และเสียชีวิตในที่สุด

การป้องกัน อหิวาตกโรค ทำได้โดยการรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ ร้อน ๆ ใช้ช้อนกลาง และหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ดื่มและใช้น้ำที่สะอาด ทำลายขยะแหล่งแพร่เชื้อโรค และใช้ส้วมที่ถูกสุขลักษณะ จะช่วยลดความเสี่ยงจากการป่วยด้วยโรคดังกล่าวได้


ไข้หวัด และ ไข้หวัดใหญ่ (Influenza)

ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่ เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส สามารถเกิดได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย และติดต่อกันง่ายมาก ระบาดตลอดทั้งปี แต่มักเกิดในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง เช่น ฤดูฝนต่อกับฤดูหนาว


 โรคตาแดง (Conjunctiva)

เป็น โรคติดต่อ ที่แพร่ระบาดได้เร็ว ผ่านการสัมผัสสิ่งของเครื่องใช้ของผู้ป่วยตาแดง และมักระบาดในช่วงหน้าฝน กับเด็ก ๆ ทั้งนี้โรคตาแดง ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ต้องรีบรักษา


โรคไข้กาฬหลังแอ่น (Meningococcal Meningitis)

เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียเฉียบพลัน พื้นที่ที่มีอุบัติการณ์ของโรคสูงติดต่อกันหลายปี ได้แก่ แอฟริกากลางแถบทะเลทรายซาฮารา สามารถแพร่จากคนสู่คนผ่านละอองน้ำมูก น้ำลาย จากปาก จมูกของผู้ที่เป็นพาหะ (ผู้ติดเชื้อแต่ยังไม่มีอาการป่วยแสดงออกมา)

อาการของผู้เป็น ไข้กาฬหลังแอ่น  จะปวดศีรษะมาก อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน เจ็บคอ คอแข็ง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดข้อ มักมีผื่นเลือดออกใต้ผิวหนังร่วมกับจ้ำเลือดขึ้นตามตัว แขนขา อาจมีอาการของเยื่อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย ในรายที่เป็นรุนแรงผู้ป่วยจะซึม ชัก และช็อก เสียชีวิตได้ภายใน 24 ชั่วโมง   หลังเริ่มมีอาการ การยืนยันการวินิจฉัยโรค ทำได้โดยการเจาะน้ำไขสันหลังส่งตรวจหาเชื้อ miningococci

โรคติดต่อ


ไข้สมองอักเสบ (Encephalitis)

โรคไข้สมองอักเสบ เกิดจากได้เชื้อไวรัสหลายชนิด แต่ในประเทศไทยมักพบจากเชื้อไวรัส Japanese encephalitis หรือเรียกว่า เจอี (JE) ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ อัตราการป่วยตาย อยู่ระหว่างร้อยละ 20-30 ผู้ป่วยส่วนใหญ่คือเด็ก อายุตั้งแต่ 5-10 ปี และพบโรคนี้ได้ชุกชุมในฤดูฝน ในประเทศไทยพบโรคนี้ในภาคเหนือมากกว่าภาคอื่น ๆ

ผู้ติดเชื้อไข้สมองอักเสบ จะไม่แสดงอาการ โดยมีเพียง 1 ใน 300-500 คนเท่านั้นที่จะมีอาการ คือ เป็นไข้ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย ต่อไปอาการปวดศีรษะจะมากขึ้น อาเจียน ง่วงซึมจนไม่รู้สึกตัว บางรายอาจมีอาการเกร็งชักกระตุกด้วย อาจมีอาการหายใจไม่สม่ำเสมอ ในรายที่เป็นรุนแรงมากจะถึงแก่กรรมประมาณวันที่ 7-9 ของโรค ถ้าพ้นระยะนี้แล้วจะผ่านเข้าระยะฟื้นตัว ระยะเวลาของโรคทั้งหมดประมาณ 4-7 สัปดาห์ เมื่อหายแล้วประมาณร้อยละ 60 ของผู้ป่วยจะมีความพิการเหลืออยู่ เช่น อัมพาตแบบแข็งเกร็ง (spastic) ของแขนขา มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง มีสติปัญญาเสื่อม ปัจจุบัน โรคไข้สมองอักเสบ ยังรักษาไม่ได้ แต่ป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน แล้วฉีดเพิ่มอีก 1 ครั้งหลังจากฉีดเข็มที่ 2 ได้ 1 ปี ควรจะเริ่มให้วัคซีนนี้เมื่ออายุ 1 ปีครึ่ง พร้อมกับการให้ booster dose DTP และ OPV รวมทั้งหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยุงกัด อันเป็นพาหะของโรค


 

ไข้เหลือง (Yellow fever)

ไข้เหลือง เป็นโรคติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในทวีปแอฟริกา และอเมริกา มาตั้งแต่ 400 ปีก่อน คำว่า “เหลือง” มาจากอาการตัวเหลืองหรือดีซ่าน (Jaundice) ที่มักพบในผู้ป่วย และยังมีอาการไข้สูงร่วมกับชีพจรเต้นช้าผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อร่วมกับปวดหลัง ปวดศีรษะ หนาวสั่น เบื่ออาหาร ระยะต่อมาจะมีเลือดออกจากปาก จมูก ตา กระเพาะอาหาร ทำให้อาเจียนและถ่ายเป็นเลือด จนถึงไตวาย  มีโปรตีนปัสสาวะ (albuminuria) และปัสสาวะไม่ออก (anuria) ครึ่งหนึ่งของผู้ป่วยระยะโลหิตเป็นพิษจะเสียชีวิตภายใน 10-14 วัน ที่เหลือจะหายเป็นปกติโดยอวัยวะต่าง ๆ ไม่ถูกทำลาย

ไข้เหลือง มียุงลายเป็นพาหะของโรค และไม่มีการรักษาจำเพาะ เน้นการรักษาตามอาการ และฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค


 

ไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)

หรือไข้ไทฟัส (Typhus) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย กลุ่มริคเกตเซีย โดยมีแมลงปรสิตเป็นพาหะ โรคไข้รากสาดใหญ่ มี 3 ชนิดคือ

1.ไข้รากสาดใหญ่ชนิดระบาด มักระบาดหลังสงครามหรือภัยพิบัติ จะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง มีผื่นตามลำตัว แขนขา ปวดกล้ามเนื้อ ความดันโลหิตตก ซึม ไวต่อแสงและเพ้อ ไข้สูง สามารถรักษาได้โดยให้ยาปฏิชีวนะ

2.ไข้รากสาดใหญ่ประจำถิ่น ติดต่อผ่านทางหมัดที่กัดหนู อาการปวดศีรษะ เป็นไข้ หนาวสั่น คลื่นไส้อาเจียน รักษาให้หายได้ แต่ในผู้สูงอายุ หรือผู้มีภูมิคุ้มกันอาจเสียชีวิตได้

3.ไข้รากสาดใหญ่จากป่าละเมาะ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีไรอ่อนซึ่งพบมากตามป่าละเมาะเป็นพาหะ ภาษาญี่ปุ่นเรียก โรคสึสึกามูชิ


 

ไข้เลือดออก

ไข้เลือดออก เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายเป็นพาหะ จึงมักระบาดในประเทศเขตร้อนชื้น โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงถึง 39-40 องศาเซลเซียส หน้าแดง มีเลือดออกเป็นจุดตามตัว ตับโต อาจมีอาการปวดท้องและช็อกได้ จึงต้องรีบรักษาโดยเร็ว โดยการเฝ้าระวังภาวะช็อค และเลือดออก

การป้องกันไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ การกำจัดยุงลาย ซึ่งเป็นพาหะไม่ให้ขยายพันธุ์ โดยหมั่นตรวจสอบแหล่งน้ำต่าง ๆ ที่ยุงจะเพาะพันธุ์อยู่


 

คอตีบ (Diphtheria)

โรคคอตีบ หรือ ดิพทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อเฉียบพลันของระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบมีแผ่นเยื่อเกิดขึ้นในลำคอ ในรายที่รุนแรงจะมีการตีบตันของทางเดินหายใจ จึงได้ชื่อว่าโรคคอตีบ และอาจทำให้ถึงตายได้ นอกจากนี้่จากพิษ (exotoxin) ของเชื้อจะทำให้มีอันตรายต่อกล้ามเนื้อหัวใจ และเส้นประสาทส่วนปลาย

อาการโรคคอตีบ คือจะเริ่มจากมีไข้ต่ำ ๆ คล้ายหวัด มีอาการไอเสียงก้อง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ในเด็กโตอาจจะบ่นเจ็บคอคล้ายกับคออักเสบ บางรายอาจจะพบต่อมน้ำเหลืองที่คอโตด้วย เมื่อตรวจดูในคอพบแผ่นเยื่อสีขาวปนเทาติดแน่นอยู่บริเวณทอนซิล และบริเวณลิ้นไก่ แผ่นเยื่อนี้เกิดจากพิษที่ออกมาทำให้มีการทำลายเนื้อเยื่อ และทำให้มีการตายของเนื้อเยื่อทับซ้อนกันเกิดเป็นแผ่นเยื่อ (membrane)

คอตีบ สามารถติดต่อกันง่ายผ่านการไอ จามรดกัน หรือพูดคุยระยะใกล้ชิด รวมทั้งการใช้ภาชนะร่วมกัน ส่วนใหญ่มักพบผู้ป่วยโรคคอตีบในชุมชนแออัด หรือในชนบทที่ไม่ได้รับวัคซีน ในประเทศไทยมักพบผู้ติดเชื้อคอตีบเป็นเด็ก อายุ 1-6 ปี


 

ทริคิโนซิส (Trichinosis)

โรคทริคิโนซิส หรือ โรคทริคิเนลโลซิส เป็นโรคพยาธิที่ติดต่อถึงคนโดยการบริโภคเนื้อสัตว์ดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ ในประเทศไทยพบการระบาดในผู้ใหญ่มากกว่าเด็ก โดยการบริโภคเนื้อสุกร และสัตว์ป่าอื่น ๆ เข้าไป อาการที่สำคัญของผู้ป่วย คือ ปวดกล้ามเนื้อ หนังตาบนบวม ตาแดงอักเสบ มีไข้ หนาวสั่น อ่อนเพลียมาก ผู้ป่วยมักป่วยอยู่นานหลายเดือนหรืออาจเป็นรุนแรงจนถึงชีวิตได้ การป้องกันคือ รับประทานอาหารที่ปรุงให้สุกแล้ว


 

บาดทะยัก (Tetanus)

เป็นโรคติดเชื้อที่จัดอยู่ในกลุ่มของโรคทางประสาทและกล้ามเนื้อ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Clostidium tetani ซึ่งผลิต exotoxin ที่มีพิษต่อเส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ เมื่อเชื้อเข้าไปทางบาดแผล จะทำให้มีการหดเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลา ผู้ที่เป็น บาดทะยัก กล้ามเนื้อขากรรไกรจะเกร็ง ทำให้อ้าปากไม่ได้ โรคนี้จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า โรคขากรรไกรแข็ง (lockjaw) จากนั้นผู้ป่วยจะคอแข็ง หลังแข็ง ต่อไปจะมีอาการเกร็งของกล้ามเนื้อทั่วตัว ทำให้ชักได้

การป้องกันคือ ให้วัคซีนป้องกันบาดทะยักตั้งแต่เด็ก และเมื่อมีบาดแผลต้องทำแผลให้สะอาดทันที โดยการฟอกด้วยสบู่ล้างด้วยน้ำสะอาด เช็ดด้วยยาฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% หรือทิงเจอร์ใส่แผลสด พร้อมทั้งให้ยารักษาการติดเชื้อทันที


 

โปลิโอ (Poliomyelitis)

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้เกิดการอักเสบของไขสันหลัง ส่งผลให้เป็นอัมพาตช่วงกล้ามเนื้อแขนและขา ในรายที่อาการรุนแรงจะส่งผลให้พิการตลอดชีวิต และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

อาการที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสโปลิโอแตกต่างกันได้มาก ประมาณร้อยละ 90 จะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ประมาณร้อยละ 4-8 จะมีอาการไม่รุนแรงไม่มีอัมพาต และประมาณร้อยละ 1 จะมีอาการแบบเยื่อหุ้มสมองอักเสบไม่มีอัมพาต ประมาณร้อยละ 1-2 เท่านั้นที่จะมีอาการอัมพาตเกิดขึ้น

การป้องกัน โปลิโอ ง่ายที่สุดคือการให้วัคซีน OPV ตั้งแต่เด็ก รวมทั้งป้องกันการติดเชื้อและการแพร่กระจายของเชื้อโปลิโอ ด้วยการรับประทานอาหารและดื่มน้ำสะอาดถูกสุขลักษณะ รวมทั้งการถ่ายอุจจาระลงส้วมที่ถูกสุขลักษณะทุกครั้ง


 

โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies)

โรคพิษสุนัขบ้า เป็น โรคติดต่อ จากสัตว์มาสู่คนที่มีความรุนแรงมาก โดยผู้ป่วยที่รับพิษสุนัขบ้า จากทางบาดแผลที่สัตว์กัดหรือข่วน ไม่ว่าจะมาจาก สุนัข แมว สุนัขจิ้งจอก สกั้งค์ แรคคูน พังพอน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมอื่น ๆ จะมีไข้ ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว คันหรือปวดบริเวณรอยแผลที่ถูกสัตว์กัด ต่อมาจะหงุดหงิด ตื่นเต้นไวต่อสิ่งเร้า (แสง เสียง ลมฯ) ม่านตาขยาย น้ำลายไหลมาก กล้ามเนื้อคอกระตุกเกร็งขณะที่ผู้ป่วยพยายามกลืนอาหารหรือน้ำ ทำให้เกิดอาการ “กลัวน้ำ” เพ้อคลั่ง สลับกับอาการสงบ  ชัก  ผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการแบบอัมพาต โดยมีอาการแขนขาอ่อนแรง กรณีไม่ได้รับการรักษาประคับประคอง มักป่วยอยู่ประมาณ 2 – 6  วัน  และเสียชีวิตเนื่องจากอัมพาตของกล้ามเนื้อ ระบบทางเดินหายใจ

หากใครถูกสุนัขกัดหรือข่วน ต้องล้างบาดแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาดให้ลึกถึงก้นแผล และใส่ยารักษาแผลสดเพื่อกำจัดเชื้อไวรัสที่แผลโดยเร็ว แล้วไปพบแพทย์ พร้อมทั้งติดตามดูอาการสัตว์ที่กัด เพื่อเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้า


 

โรคมือ ปาก เท้า (Hand foot mouth disease)

โรคมือ ปาก เท้า หรือ โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสลำไส้ หรือเอนเทอโรไวรัสหลายชนิด พบได้บ่อยในกลุ่มเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นโรคเกิดประปรายตลอดปี แต่จะเพิ่มมากขึ้นในหน้าฝน ซึ่งอากาศมักเย็นและชื้น โดยทั่วไปโรคนี้มีอาการไม่รุนแรง แต่ติดต่อกันได้ผ่านเข้าสู่ปากโดยตรง ซึ่งมาจากการสัมผัสสิ่งของที่มีเชื้อไวรัสติด และไอจามรดกัน

ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1-2 วัน มีเจ็บปากและไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม  ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส  ซึ่งบริเวณรอบ ๆ จะอักเสบและแดง  ต่อมาตุ่มจะแตกออกเป็นแผลหลุมตื้น ๆ  จะพบตุ่มหรือผื่น (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลาและหายเป็นปกติภายใน  7-10 วัน

การรักษาทำได้ตามอาการ เพราะไม่มีวัคซีนป้องกันโดยตรง และควรรักษาความสะอาด ล้างมือบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน


 

 เลปโตสไปโรซิส (Leptos) หรือ โรคฉี่หนู

พบได้ทั่วโลก ยกเว้นขั้วโลก ผู้ป่วยมักเป็นคนที่ประกอบอาชีพเกษตรกร คนเลี้ยงสัตว์ รวมทั้งผู้ที่ชอบเดินป่า ท่องเที่ยวแม่น้ำ น้ำตก และผู้ที่มีประวัติแช่ในน้ำท่วมขัง โดย โรคฉี่หนู เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ เลปโตสไปร่า (Leptospira) มีสัตว์เป็นพาหะ เช่น หนู สุกร โค กระบือ สุนัข แรคคูน

เชื้อโรค สามารถเข้าสู่ร่างกายทางผิวหนังที่มีแผล หรือรอยขีดข่วน รวมทั้งผิวหนังที่เปื่อยเนื่องจากแช่อยู่ในน้ำนาน ๆ และเยื่อบุที่อ่อนนุ่ม เช่น ตา จมูก ปาก โดยมักพบเชื้อในน้ำ ดินทรายเปียกชื้น หรือผักที่ปนเปื้อนปัสสาวะของสัตว์ที่ติดเชื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ กล้ามเนื้อมาก อาจพบอาการคอแข็ง ความดันโลหิตต่ำ ผื่นแดง ต่อมน้ำเหลืองโต ตับ ม้ามโต

การป้องกัน โรคฉี่หนู ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการแช่น้ำหรือลุยน้ำ ถ้าจำเป็นควรสวมรองเท้าบู๊ต ถุงมือยาง นอกจากนี้ยังควรกำจัดหนูในที่อยู่อาศัยของคน ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแก่ปศุสัตว์ (เช่น โค กระบือ) และสัตว์เลี้ยง (เช่น สุนัข) จะช่วยป้องกันโรคได้

ฉุกเฉิน


วัณโรค (TB)

วัณโรคเป็นโรคติดต่อเรื้อรัง ทำให้เกิดการอักเสบในปอด แต่ถ้าพบในเด็กอาจเป็นที่อวัยวะอื่นร่วมด้วย เช่น ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มสมอง กระดูก สาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis รับเชื้อผ่านทางการไอ จาม ทำให้เชื้อกระจายในอากาศ อาการของ วัณโรคปอด จะพบได้เร็วที่สุดหลังติดเชื้อ 1-6 เดือน โดยจะเริ่มต้นเป็นจุดที่ปอดก่อน เด็กจะมีไข้ต่ำ ๆ เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง บางคนมีอาการไอเรื้อรัง บางคนมีไอซ้อน ๆ กันคล้ายไอกรน เด็กโตบางคนอาจบ่นเจ็บหน้าอก และเหนื่อยหอบ ถ้าเป็นมากจะมีน้ำในช่องเยื่อหุ้มปอด

ในสมัยก่อนเรียก วัณโรค ว่า “ฝีในท้อง” ผู้ป่วยจะเสียชีวิตทุกราย และคนยังรังเกียจอีกด้วย แต่ปัจจุบัน วัณโรค สามารถรักษาให้หายได้ โดยการรักษาจะให้ยาร่วมกันอย่างน้อย 3 ชนิด เพื่อลดอัตราการดื้อยา และเพิ่มประสิทธิภาพของยา การป้องกัน ทำได้โดยหลีกเลี่ยงการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่กำลังมีอาการไอ รวมทั้งให้วัคซีน BCG ป้องกันวัณโรค


 

โรคหัด  (Measles)

โรคหัดเป็นโรคไข้ออกผื่น (Exanthematous fever) ที่พบบ่อยในเด็กเล็ก นับว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญมากโรคหนึ่ง เพราะอาจมีโรคแทรกซ้อนทำให้ถึงเสียชีวิตได้ โดยสาเหตุของ โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส และติดต่อผ่านกันโดยการไอ จาม การหายใจเอาละอองที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัสเข้าไป

ผู้ป่วย จะเป็นไข้ น้ำมูกไหล ไอ ตาแดง ตาแฉะ กลัวแสง และจะมีผื่นขึ้นในวันที่ 4 ของไข้ ลักษณะนูนแดงติดกันเป็นปื้น ๆ มักขึ้นที่หน้า ขอบผม ก่อนกระจายไปตามแขนขา ทั่วตัว ใช้เวลา 2-3 วัน จากนั้นไข้จะลดลง ผื่นจากที่เป็นสีแดงจะออกเข้มขึ้น และอาจมีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้

การรักษาโรคหัด เป็นการรักษาตามอาการ การป้องกันที่ดีที่สุดคือการให้วัคซีนป้องกันตั้งแต่เด็ก และหลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ป่วย


 

หัดเยอรมัน (Rubella)

เป็นโรคติดต่อชนิดหนึ่ง เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้มีอาการไข้และผื่นทั่วตัว อาจมีอาการปวดข้อ หรือข้ออักเสบร่วมด้วย  สามารถติดต่อผ่านการจากการสัมผัสโดยตรง ผ่านการไอจาม หายใจ โรคหัดเยอรมัน ส่วนใหญ่จะเป็นกับเด็ก ผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันจะเป็นได้และรุนแรงมากกว่าเด็ก และที่สำคัญคือถ้าเป็นในหญิงมีครรภ์ จะทำให้ลูกคลอดออกมามีความพิการทางหู ตา หัวใจ และสมอง ได้ตั้งแต่ร้อยละ 25-40 ทั้งนี้แล้วแต่ระยะของการตั้งครรภ์
การรักษา หัดเยอรมัน รักษาโดยตามอาการที่เป็น และป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน


 

ไอกรน (Pertussis)

โรคไอกรน เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย เป็นโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ และเกิดอาการไอ ที่มีลักษณะพิเศษคือ ไอซ้อน ๆ ติด ๆ กัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้นจนเด็กหายใจไม่ทัน จึงหยุดไอ และมีอาการหายใจเข้าลึก ๆ เป็นเสียง วู๊ป (Whooping cough) สลับกันไปกับการไอเป็นชุด ๆ จึงมีชื่อเรียกว่า “โรคไอกรน” บางครั้งอาการอาจจะเรื้อรังนานเป็นเวลา 2-3 เดือน

โรคนี้พบบ่อยในเด็ก แต่เป็นได้ทุกอายุ ถ้าไม่มีภูมิคุ้มกัน แต่ในวัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่อาจไม่มีอาการ หรือไม่มีอาการแบบไอกรน ส่วนใหญ่จึงไม่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไอกรน การป้องกัน ไอกรน ทำได้ด้วยการฉีดวัคซีน 4-5 ครั้ง และจะไม่ให้วัคซีนแก่เด็กที่มีอายุเกิน 7 ปีแล้ว เพราะจะพบปฏิกิริยาข้างเคียงได้สูง


 

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax)

เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ระบาดในหมู่สัตว์เลือดอุ่น คือ โค กระบือ ม้า แพะ แกะ ในประเทศไทยพบการระบาดในกระบือมากที่สุด และพบทุกภาค โดยมากมักระบาดซ้ำในท้องที่เดิม

โรคแอนแทรกซ์ สามารถติดต่อมายังคนได้ทางผิวหนัง จากาการสัมผัสซาก ทางปากจากการรับประทาน รวมทั้งทางเดินหายใจที่หายใจเอาสปอร์ของเชื้อเข้าไป ทั้งจากขนสัตว์ หนังสัตว์ อาหารสัตว์ (กระดูกป่น) ที่มีสปอร์ฟุ้งกระจาย

อาการผู้ป่วยโรคแอนแทรกซ์ จะมีอาการคัน มีตุ่มบวมมีน้ำใส ต่อมาจะหายใจขัด มีไข้ ช็อก ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วภายใน 3-5 วัน ส่วนอาการในสัตว์ หากเป็นแบบฉับพลัน ก็อาจตายได้ภายใน 1-2 ชั่วโมงหลังแสดงอาการป่วย

การป้องกันทำได้โดยการฉีดวัคซีนให้สัตว์ทุก ๆ 6 เดือน ไม่นำเนื้อสัตว์ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือสัตว์ที่อาจป่วยเป็นโรคนี้มากิน และไม่นำซากสัตว์เหล่านั้นไปใช้ประโยชน์ต่อไป รวมทั้งทานอาหารที่ปรุงสุกเท่านั้น


 

โรคเอดส์ (AIDS)

หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ฮิวแมนอิมมิวโนเดฟีเซียนซีไวรัส (Human Immunodeficiency Virus : HIV) หรือเรียกย่อ ๆ ว่า เชื้อเอชไอวี จะเข้าไปทำลายเซลล์เม็ดเลือดขาว ที่มีหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันโรค ทำให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อมีภูมิคุ้มกันต่ำลง จนร่างกายไม่สามารถต้านทานเชื้อโรคได้อีก โรคต่างๆ (หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า โรคฉวยโอกาส) จึงเข้ามาซ้ำเติมได้ง่าย เช่น วัณโรค ปอดบวม ติดเชื้อในระบบโลหิต เชื้อรา ฯลฯ และทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตในที่สุด และปัจจุบันยังไม่มียารักษา

โรคเอดส์ สามารถติดต่อกันได้ ผ่านทางการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ติดเชื้อ , รับเชื้อทางเลือด เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน รวมทั้งการติดต่อจากมารดา โดยแม่ที่มีเชื้อเอดส์จะถ่ายทอดให้ลูกในครรภ์ได้ แต่เราสามารถป้องกัน โรคเอดส์ ได้โดยการ ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ที่มีเพศสัมพันธ์ รวมทั้งรักเดียว ใจเดียว นอกจากนี้ ก่อนแต่งงาน หรือมีบุตร ควรตรวจร่างกาย ตรวจเลือด และขอรับคำปรึกษาเรื่อง โรคเอดส์ จากแพทย์ก่อน


 

กาฬโรค (Plague)

เกิดจากเชื้อแบคทีเรียเป็นโรคติดต่อชนิดร้ายแรง เมื่อพบผู้เป็นกาฬโรค ต้องรีบแจ้งความ โดยพาหะของกาฬโรคมาจากสัตว์ฟันแทะจำพวกหนู เช่น หนู กระรอก กระแต กระต่าย โดยหากหมัดของสัตว์เหล่านี้มากัดคน จะปล่อยเชื้อเข้าทางรอยแผล จนเกิดโรคได้ โดยในอดีตเคยมีการระบาดใหญ่ของกาฬโรคมาแล้ว 3 ครั้งในทั่วโลก และคร่าชีวิตคนไปแล้วหลายล้านคน

เมื่อเชื้อกาฬโรคเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดการอักเสบบวม โดยเฉพาะที่ขาหนีบ และรักแร้ และจะมีไข้สูง หนาวสั่น ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองโตบวม ระยะต่อมาเชื้อจะแพร่กระจายไปตามกระแสโลหิต เข้าสู่ปอด ตับ ม้าม และบางรายไปยังเยื่อหุ้มสมอง เกิดภาวะเชื้อเข้ากระแสโลหิตรุนแรง (Septicaemic plague) จะเกิดอาการหัวใจวายและตายในที่สุด หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและรวดเร็ว